bookmark_borderความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคต้อหินที่ควรรู้

ความเชื่อ: ต้อหินเกิดจากความดันลูกตาสูง

ความจริง: ไม่ใช่ทุกคนที่มีความดันลูกตาสูงจะเป็นต้อหิน พบว่าอาจมีคนไข้ต้อหินเกินกว่าครึ่งที่ความดันลูกตาไม่เคยสูง

ความเชื่อ: ต้อหินเป็นโรคของคนอายุมาก

ความจริง: จริง ๆ แล้วสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ อาจเป็นตั้งแต่แรกเกิดหรือพบร่วมกับโรคตา หรือโรคทางกายอื่น ๆ

ความเชื่อ: คนไทยมีความเสี่ยงมากกว่าคนชาวตะวันตก

ความจริง: คนไทย 1 ใน 6 ของประชากรที่อายุเกิน 50 ปีมีโอกาสเป็นต้อหิน

ความเชื่อ: ต้อกระจก ทิ้งไว้ไม่รักษาจะกลายเป็นต้อหิน

ความจริง: คนที่เป็นต้อกระจกจะไม่กลายเป็นต้อหิน เว้นเสียแต่ว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อหินร่วม หรือทิ้งไว้นานจนต้อกระจกสุกขุ่นขาวก็อาจทำให้เกิดต้อหินได้

ความเชื่อ: ต้อหินเกิดจากใช้คอมพิวเตอร์มาก

ความจริง: ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากพอ แต่การที่มีสายตาสั้นมากเป็นปัจจัยของการเกิดต้อหินได้ กลุ่มคนทำงานหนักอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีสายตาสั้นมากอยู่แล้ว

ความเชื่อ: ต้อหินมักต้องมีอาการปวดตา

ความจริง: จริง ๆ แล้วคนที่เป็นต้อหินจะไม่มีอาการอะไรเลย จนกระทั่งประสาทตาถูกทำลายไปครึ่งหนึ่งจึงเริ่มมีอาการตามัว

ความเชื่อ: ต้อหินถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม

ความจริง: ไม่ได้หมายความว่าลูกต้องเป็นต้อหิน ถ้าพ่อหรือแม่เป็นต้อหิน แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ครอบครัวมีประวัติเป็นต้อหิน ควรรับการตรวจเช็คสุขภาพตาแต่เนิ่น ๆ สม่ำเสมอ เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่าประชากรทั่วไป 5 – 6 เท่า

bookmark_borderสมองล้าดูแลอย่างไรดี

รู้จักกับภาวะสมองล้า
ภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome) คือ ภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัวจากการที่สมองถูกใช้งานอย่างหนักเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจเกิดจากความเร่งรีบที่จะทำงานให้เสร็จ การพักผ่อนน้อย หรือการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ทำให้สารสื่อประสาทในสมองซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ของระบบประสาทเสียสมดุล ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจึงแย่ลง มีการเปรียบเทียบไว้ว่าเหมือนมีหมอกลงในสมองทำให้ไม่สดใส Brain Fog Syndrome หากเกิดบ่อยครั้งจะกลายเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคกระเพาะ, โรคอ้วน, ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ, โรคเบาหวาน ฯลฯ

สาเหตุของภาวะสมองล้า
ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่มีส่วนสำคัญที่ทำให้โอกาสเกิดภาวะสมองล้าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่

  • คลื่นแม่เหล็ก จากการใช้งานคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บแล็ตมากเกินไป รบกวนการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง
  • ความเครียด ทำให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เกิดอาการมึนงง ความจำแย่ลง
  • นอนดึก นอนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย
  • ขาดสารอาหาร อาทิ กรดอะมิโน วิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ
  • สารพิษในชีวิตประจำวัน เช่น มลภาวะ สารเคมี โลหะหนัก ยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนในอากาศ น้ำ และอาหาร

อาการเตือนของภาวะสมองล้า

  • นอนไม่หลับ
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • สายตาอ่อนเพลีย
  • อารมณ์แปรปรวน
  • หงุดหงิดง่าย
  • ขี้หลงขี้ลืม
  • ความจำระยะสั้นแย่ลง
  • สมาธิในการทำงานลดลง
  • ความคิดสร้างสรรค์ที่เคยมีหายไป
  • ลางานบ่อย
  • ไม่สดชื่น

รักษาสมองไม่ให้ล้า
การรักษาภาวะสมองล้าจำเป็นที่จะต้องปรับวิธีการใช้ชีวิต ทั้งในด้านพฤติกรรม อาหาร จิตใจ การออกกำลังกาย รวมถึงการล้างสารพิษ ได้แก่

  • ควบคุมการใช้เทคโนโลยีในเวลาที่เหมาะสม ไม่นานจนเกินไปหรือตลอดทั้งวัน ควรหยุดพักบ้างเป็นระยะ
  • คิดบวก มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ไม่เครียด
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยบำรุงสมอง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7 – 8 ชั่วโมง และควรนอนในเวลา 4 ทุ่มไม่เกินเที่ยงคืน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะช่วยให้สุขภาพสมองแข็งแรง
  • เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และไม่ดื่มกาแฟในช่วงเย็นเพราะอาจรบกวนการนอนหลับ
  • ท่องเที่ยวธรรมชาติเพื่อผ่อนคลายและได้สูดออกซิเจนให้เต็มปอด ช่วยเติมพลังชีวิตได้ดี

bookmark_borderเจไม่เจ กินเจอย่างไร ให้สุขภาพดี

เทศกาล “กินเจ” กำลังใกล้เข้ามาถึงในไม่ช้า การกินเจนั้นถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีนว่าการกินเจคือ การไม่ไปเบียดเบียนชีวิตของคนอื่น
ช่วยให้กายใจบริสุทธิ์และยังทำให้ได้รับบุญกุศลเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ การกินเจยังได้รับความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพซึ่งเชื่อว่าการกินเจจะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพดี

เนื่องจากเป็นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ แต่อย่างไรก็ตามการกินเจในปัจจุบันเริ่มมีการนำเอาวัตถุดิบที่ผ่านการแปรรูปมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารมากขึ้นเพื่อเพิ่มรสชาติ บางแหล่งยังถูกจำลองกลิ่นและรสสัมผัสให้คล้ายอาหารที่ผ่านการปรุงจากเนื้อสัตว์

ซึ่งสารที่เติมเข้าไปล้วนมีส่วนผสมของสารเคมี สารกันบูดและบางผลิตภัณฑ์ยังมีการปนเปื้อนของเชื้อราอีกด้วย

การกินเจในปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องของการดูแลสุขภาพเพียงอย่างเดียว เพราะหากไม่รู้จักระวังก็อาจจะกลายเป็นการให้โทษต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ อาหารเจยังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตและไขมันเป็นหลัก

เมื่อรับประทานมากๆ ก็เสี่ยงที่จะทำให้มีภาวะน้ำหนักเกินและไขมันในเลือดสูงตามมาได้ ดังนั้น ก่อนเริ่มต้นกินเจเราควรพิจารณาเมนูอาหารให้เหมาะสมเพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งกายและใจไปพร้อมๆ กันอย่างสมบูรณ์

กินเจ ระวัง! ขาดสารอาหาร
ผู้ที่กินเจในระยะยาวอาจจะทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารได้โดยเฉพาะโปรตีน แต่ในผู้ที่กินตามเทศกาลเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ มักจะไม่ค่อยมีปัญหาทางด้านสุขภาพ แต่ทางที่ดีก็ควรเลือกกินอาหารหลากหลายชนิด

โดยเฉพาะถั่วและธัญพืชต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของโปรตีนคล้ายเนื้อสัตว์ กินผักและผลไม้ในมื้ออาหารเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มวิตามินและเกลือแร่ ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ

‘ถั่วเหลือง’
คือ หนึ่งในแหล่งโปรตีนชั้นเลิศที่ขาดไม่ได้ เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของอาหารเจที่มีคุณค่าของโปรตีนพอๆ กับเนื้อสัตว์หากได้รับในปริมาณที่เพียงพอ นอกจากนี้ ในบรรดาพืชผักอื่นๆ ยังมีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง ช่วยป้องกันการเกิดโรค ลดไขมันในเลือดและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้

ดังนั้น การกุญแจสำคัญของการกินเจคือต้องเลือกอาหารที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะกินในช่วงเทศกาลหรือกินในระยะยาวก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดสารอาหารตามมาได้

ข้อจำกัดในการกินเจ
สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อาหารเจอาจจะไม่ค่อยได้รับคำแนะนำเท่าไรนัก เพราะอาจจะเข้าไปกระตุ้นให้โรคประจำตัวที่เป็นอยู่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาหารประเภทนี้อุดมไปด้วยแป้งและน้ำตาลมาก ผู้ป่วยเบาหวาน โรคหัวใจและความดันควรหลีกเลี่ยงขนมที่ทำจากน้ำตาลในปริมาณสูง

ส่วนการกินเจให้ได้สุขภาพอย่างครบถ้วน ควรออกกำลังกายและเลือกกินอาหารอย่างพอเหมาะ ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสและพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ

เท่านี้ก็จะช่วยให้การกินเจเป็นประสบการณ์ดีๆ สักครั้งในรอบปีที่เราจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญได้อย่างมีความสุขค่ะ

bookmark_borderดูแลสุขภาพด้วยเทคนิคดีๆ เพื่อชีวิตที่สมดุล

หย่อนไปก็ไม่ดี ตึงไปก็ไม่ไหว เรากำลังพูดถึงวิธีการใช้ชีวิตของหนุ่มสาวทำงานในยุคนี้ ให้ทั้งยังเอ็นจอยกินเที่ยวดื่มได้เต็มที่ แต่ก็ต้องไม่เสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ หรือโรคทางเดินอาหารทั้งหลายด้วย เพราะมันไม่ง่ายเลย บางคนชอบปาร์ตี้ บางคนบ้างาน แต่บางคนก็เข้มงวดกับการดูแลสุขภาพมากไป จนรู้ตัวอีกที ไม่รู้ว่าความสุขที่มีมันหายไปไหนหมด วันนี้ เราขอไกด์วิธีบาลานซ์การใช้ชีวิต กิน เที่ยว ดื่ม ทำงาน ปาร์ตี้ยังไง ไม่ต้องเข้าใกล้โรคร้าย และยังสนุกกับชีวิตได้อยู่

ข้าว 1 เนื้อสัตว์ 1 ผัก 2

  • กินผักแค่ไหนถึงเรียกว่าพอกับความต้องการ กินเนื้อสัตว์มากไปก็เสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้อีก เอาอย่างนี้เวลากินอาหารแต่ละมื้อให้ลองแบ่งจานออกเป็นพายชาร์ทสี่ส่วน ลองกะประมาณดูว่า มีแป้งหนึ่ง 1 ส่วน เนื้อสัตว์อยู่ 1 ส่วน และมีผักอยู่ 2 ส่วนที่เหลือ ถ้ากินปริมาณนี้ได้ทุกมื้อถือว่าเวิร์คเลย อ้าว…แล้วถ้าเวลาเครียดมากๆ อยากกินปิ้งย่างล่ะต้องทำไง เทคนิคคือ นานๆ กินทีได้ แต่ไม่ควรเกินเดือนละครั้ง ห้ามปิ้งจนเกรียมเกินไป และให้กินผักมากกว่าเนื้อสัตว์เป็น 2 ใน 3 เสมอ

ทำงานหนักแค่ไหน…ก็ขอนอนตอน 5 ทุ่ม

  • เพราะคุณงานเยอะท่วมหัว เราเข้าใจ แต่ต่อให้ระหว่างวันทำงานหนักแค่ไหน เหนื่อยสายตัวแทบขาด เราต้องให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอได้ทุกวัน ก่อนกลับมาใช้พลังงานใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น ดังนั้นควรเข้านอนเพื่อให้ร่างกายได้หลับลึกในช่วงเวลา 5 ทุ่ม – ตี 1 เวลาที่โกรทฮอร์โมนจะทำงานได้ดีที่สุด เพื่อให้เซลล์ในร่างกายได้ซ่อมแซมอย่างเต็มที่

ปาร์ตี้ได้ แต่ออกกำลังกายด้วย

  • ก็เข้าใจอีกนั่นแหละว่าชอบปาร์ตี้ ใครเป็นสายแฮงค์เอ้าท์ทุกวันศุกร์ แดนซ์ดึกดื่นจนหมดแมกซ์แล้วค่อยกลับบ้าน ควรมีกฏกับตัวเองเลยว่า วีคไหนปาร์ตี้หนัก ก็ควรออกกำลังกายหนักเพื่อทดแทนเช่นกัน ให้ร่างกายได้หลั่งสารเอ็นโดรฟิน กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ให้เหงื่อได้ขับสารพิษตกค้างจากที่เราดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป และควรออกกำลังกายให้หลากหลาย ทั้งการคาร์ดิโอเผาผลาญ ทั้งสร้างกล้ามเนื้อ และคลาสที่ได้ยืดเหยียดอย่างโยคะ เพราะการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดความสมดุลของพลังงานจะช่วยควบคุมระดับอินซูลิน และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

แอลกอฮอล์แก้วนึง น้ำเปล่าแก้วนึง

  • ขาดื่มทั้งหลาย ถ้าไม่อยากเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต ขอบอกเลยว่าควรลดปริมาณการดื่มลงหน่อย และอีกเทคนิคสำคัญที่จะทำให้คุณไม่ดื่มแอลกอฮอล์หนักเกินไป คือบังคับตัวเองเลยว่าต้องดื่มแอลกอฮอล์สลับกับน้ำเปล่า เช่น ถ้าดื่มค็อกเทลหมดหนึ่งแก้ว ต้องดื่มน้ำเปล่าเข้าไปหนึ่งแก้วก่อน จึงจะดื่มแอลกอฮอล์แก้วต่อไปได้

เมื่อเครียดมาก ต้องดูหนังตลก

  • มีผลการศึกษามากมายที่พบว่าความเครียดเรื้อรังส่งผลให้เซลล์มะเร็งเติบโตขึ้นได้เร็วกว่าเดิม นั่นเพราะฮอร์โมนเครียดที่หลั่งออกมามากจะขัดขวางการทำงานของโปรตีนบางชนิดในเซลล์ของร่างกายไม่ให้ทำงานได้ตามปกติ แต่ในทางกลับกัน ฮอร์โมนความสุขอย่างเอ็นโดรฟิน เซโรโทนิน และโดพามีน มีส่วนให้ร่างกายและจิตใจทำงานได้ดีขึ้น ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น และสารเหล่านี้จะหลั่งออกมาในขณะที่เราหัวเราะ นอกจากนี้การหัวเราะยังทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเข้าปอดเพิ่มมากขึ้นด้วยนะ